สักวันหนึ่ง - มาริสา สุโกศล หนุนภักดี

วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555

วันตรุษไทย ประเพณีทำบุญวันสิ้นปี สมัยโบราณ


หากเอ่ยถึง วันตรุษไทย หลายคนคงไม่คุ้นเคยเท่ากับ วันตรุษจีน ทั้งที่ วันตรุษไทย ก็เป็นวันสำคัญของไทยที่มีประเพณีสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน
วันตรุษไทย ตรงกับวันแรม ๑๔-๑๕ ค่ำ เดือน ๔ และวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ รวม ๓ วัน โดยถือเอาวันแรก คือ วันแรม ๑๔ ค่ำ เป็นวันจ่าย เพื่อตระเตรียมสิ่งของไว้ทำบุญ และวันที่ ๒ คือ วันแรม ๑๕ ค่ำ เป็นวันทำบุญตักบาตร มีการละเล่นสนุกสนานตามประเพณีท้องถิ่น ซึ่งจะเล่นกันจนถึงวันที่ ๓ คือวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕
ทั้งนี้ คำว่า ตรุษ เป็นคำไทยที่แผลงมาจากภาษาสันสกฤต มี ๒ ความหมาย โดยความหมายแรก แปลว่า ตัด หรือขาด หมายความถึง วันตรุษไทยที่มีนัยว่าตัดปีเก่าที่ล่วงมาแล้วให้ขาดไป ส่วนอีกความหมายหนึ่ง ตรุษ แปลว่า ความยินดี ความรื่นเริงใจ ความบันเทิงใจ ซึ่งหมายถึง วันตรุษสงกรานต์ หรือวันสงกรานต์ ที่ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย ทำให้วันตรุษไทยเปรียบเสมือนวันสิ้นปี หรือเป็นประเพณีทำบุญส่งท้ายปีเก่านั่นเอง
แต่ด้วยความที่วันตรุษไทยมักจะอยู่ในช่วงเดือนมีนาคม ซึ่งใกล้กับ วันสงกรานต์ ทำให้ปัจจุบันการจัดงาน วันตรุษไทย ถูกรวบยอดไปจัดในวันสงกรานต์ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมคนไทยจึงไม่ค่อยรู้จัก วันตรุษไทย
ประวัติวันตรุษไทย
ว่ากันว่า ประเพณีวันตรุษ แต่เดิมเป็นของพวกอินเดียฝ่ายใต้ เมื่อพวกทมิฬได้มาครองเมืองลังกา ก็ได้นำพิธีตรุษอันป็นวิถีปฏิบัติของลัทธิตนเข้ามาด้วย ทำให้มีการปฏิบัติสืบต่อกันมา จนกระทั่งกลายเป็นงานนักขัตฤกษ์ใหญ่ มีการนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์ในวันแรม ๑๔-๑๕ ค่ำ เดือน ๔ และวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ เพื่อให้เป็นสิริมงคลแก่บ้านเมืองของตน
ส่วนในประเทศไทย มีปรากฎในตำนานนางนพมาศหรือตำหรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ว่า วันตรุษไทย มีมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยพระมหากษัตริย์ผู้ครองประเทศในครั้งนั้นทรงรับเอาประเพณีวันตรุษ มาเป็นพระราชพิธี และทรงทำบุญบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นการประจำ เรียกว่าพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์คือ ทำบุญวันสิ้นปีหรือทำบุญส่งปีเก่า โดยกษัตริย์จะนิมนต์พระสงฆ์เข้ามาในพระราชวัง ๓ วัน เพื่อทำการเจริญพระพุทธมนต์ และเมื่อสวดเจริญพระพุทธมนต์เสร็จแล้ว จะมีการยิงปืนไปทั่วพระนคร เหมือนกับไล่ผีไล่ปีศาจ ไล่สิ่งที่ไม่ดีทั้งหลายให้หมดไปกับปีเก่า
หลังจากนั้น ประเพณีวันตรุษไทยหรือพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ก็กระทำสืบต่อกันมา จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทางราชการก็ได้มีการสั่งให้ยกเลิกประเพณีพระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ หรือพิธีวันตรุษไทยของหลวง โดยให้ยกเอาไปรวมกับพิธีสงกรานต์ เรียกรวมกันว่า พระราชพิธีตรุษสงกรานต์ แต่ในส่วนของชาวบ้านก็ยังมีการประกอบพิธีวันตรุษไทยกันอยู่อย่างเดิม และยังทำอยู่ทั่วไปตามท้องถิ่นต่างๆ
อย่างไรก็ดี สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงวินิจฉัยถึงการเข้ามาของประเพณีวันตรุษ ว่า
(๑)อาจได้หนังสือที่เป็นตำรามา ซึ่งเป็นภาษาสิงหฬ และจารึกลงในใบลานด้วยอักษรสิงหฬ แล้วมาแปลออกเป็นภาษาไทยเรา
(๒)อาจมีพระเถระชาวลังกา ซึ่งเป็นที่มีความชำนาญในการพิธีตรุษได้เข้ามาในเมืองไทย แล้วมาบอกเล่า และสอนให้ทำพิธีตรุษกันขึ้น
(๓)อาจมีพระสงฆ์ของไทยได้ไปเห็นชาวลังกาทำพิธีตรุษ และได้มีโอกาสได้ศึกษาทำพิธีตรุษนั้น จนมีความสามารถทำได้ แล้วก็ได้นำเอาตำรานั้นเข้ามาสู่ประเทศไทย
การทำบุญวันตรุษไทย
ในการทำบุญประเพณีวันตรุษไทย ช่วงกลางวันก็จะมีการทำบุญตักบาตร จัดทำข้าวเหนียวแดงและกาละแม ซึ่งเป็นขนมประจำเทศกาลวันตรุษไทย เพื่อทำบุญอุทิศให้กับญาติผู้อุทิศล่วงลับไปแล้วได้เก็บไว้กิน เพราะเก็บไว้ได้นาน มีการไหว้พระเจดีย์ตามวัดต่างๆ มีการละเล่นสนุกสนานต่างๆ เช่น ร้องเพลงอธิษฐาน เพลงมาลัย เพลงชาวงชัย และเล่นมอญซ่อนผ้า
ขอยกตัวอย่าง ตอนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ในสมัยที่จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี มีการเล่นรำวงกันเป็นที่ครึกครื้นของหนุ่มสาว ทำให้เกิดความสามัคคีกันเป็นอย่างดี เมื่อมีกิจการใดๆ ก็จะร่วมมือช่วยเหลือกันด้วยน้ำใจที่เรียกว่า ลงแขกซึ่งการละเล่นในยามตรุษมีเนื้อเพลงที่ชาวบ้านแต่งร้องรำกันสนุนสนานรื่นเริงตอนหนึ่งว่า “...ตอนเช้า ทำบุญตักบาตร ทำบุญร่วมญาติ ตักบาตรร่วมญาติ กันเอย ตอนบ่ายเราเริงกีฬา เล่นมอญซ่อนผ้า เล่นสะบ้าเอย...
และยังมีเพลงพื้นเมืองที่ควรจะบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ เพราะสมัยนั้นเป็นเวลาที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ก็มีเพลงที่เกี่ยวกับเสียงปืนที่หนุ่มสาวนำมาคิดประดิษฐ์ร้องกันขึ้นว่า ครืน ครืน ครืน ได้ยินเสียงปืนกระทุกใจหวัง คิดไปหัวใจ เรายัง คิดถึงความหลังก็ยังเศร้าใจเขต แคว้นในแดนไทยเรา ถูกเขามายื้อแย่งไป คิดขึ้นมาน้ำตาหลั่งไหล คิดขึ้นมา น้ำตาหลั่งไหล ขึ้นชื่อว่าไทยไม่วายเขาลือ
ส่วนในช่วงกลางคืน วันตรุษไทยจะเป็นการเล่นเข้าทรงลงผีต่างๆ ตามทางสามแพร่ง สี่แพร่ง ก็มีการแขวนข้าวผอกกระบอกน้ำ ด้วยเพราะมีความเชื่อว่าการที่พระสงฆ์สวดบทอาฏานาฏิยสูตร หรือบทสวดภาณยักษ์ เป็นการสวดเพื่อให้ผีตกใจกลัว และผู้ที่มีปืนก็จะยิงปืนสนั่นหวั่นไหวเพื่อเป็นการไล่ผี (คล้ายพิธีหลวง) โดยผู้เฒ่าผู้แก่จะหยิบเอาปูนและขมิ้นวางไว้ข้างที่นอน เพื่อเอาไว้ให้พวกผีญาติผีเรือน ที่ตกใจกลัววิ่งกันชุลมุนล้มลุกคลุกคลาน จะได้หยิบเอาขมิ้นกับปูนนั้นมาทา และยังเชื่ออีกว่าถ้าผู้ใดไม่สวดมงคลสูตร ผีอาจวิ่งมาชนล้มหรือมาหลอกหลอน ทำให้เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วย เกิดการเพ้อคลั่งมีกิริยาต่างๆ ซึ่งก็ถือกันมาจนปัจจุบัน
และทั้งหมดนี้คือ ประวัติ ความเป็นมา วันตรุษไทยวันที่คนไทยควรรู้และสืบสานเพื่อให้ประเพณีดีๆ วันตรุษไทย ดำรงอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนาน

วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555


ฐานความรู้ภาษาไทย ระดับอุดมศึกษา PDF Print E-mail
images/stories/sawadee.jpgฐานความรู้ภาษาไทย ระดับอุดมศึกษารวบรวมแหล่งเรียนรู้หลากหลายสำหรับผู้สอนและผู้เรียนภาษาไทย จากเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และนำเสนอเป็น 3 กลุ่มเมนูหลัก

-
ประตูสู่ความรู้- แหล่งทรัพยากรฯยุคใหม่
- พัฒนาวิชาชีพครู

ประโยชน์ที่ผู้สอนภาษาไทยจะได้รับ
คือการใช้เป็นแหล่งวัสดุการสอนภาษาไทยในและนอกชั้นเรียน
ที่มาจากเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้สอนสามารถนำไปใช้สอนได้โดยตรงและใช้เป็นตัวอย่างภาษาเพื่อการสอนทักษะการใช้ภาษาทั้งฟัง พูด อ่านเขียน ในลักษณะที่ข้อมูลจะมีการปรับปรุงตัวเองได้ตลอดเวลาและอย่างต่อเนื่อง
ประโยชน์ที่ผู้เรียนภาษาไทยจะได้รับ
เป็นทางเลือกในการเรียนรู้จากสื่อการเรียนการสอนหลายๆ รูปแบบ
และสามารถเรียนได้โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาหรือสถานที่
และสามารถเข้ามาศึกษาได้ทุกครั้งที่ต้องการ
โดยผ่านทางเว็บไซต์ นอกจากจะเรียนรู้ในชั้นเรียนแล้ว ยังได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
เกิดความคิดสร้างสรรค์  ได้ทบทวนและฝึกฝนตนเองได้ทุกเวลา